jokesocool

News

ตลท.ปั้นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมหุ้น-โทเคน เคาะเปิด TDX ไตรมาส 3/65

ตลท.ชี้สินทรัพย์ดิจิทัลเทรดสนั่น ทั่วโลกซื้อขายทะลุ 2.6 ล้านล้าน แนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เชื่ออนาคตตลาดหุ้นไทยไม่หาย พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเชื่อม 2 ตลาด อำนวยความสะดวกผู้ระดมทุน-ผู้ลงทุน ผลักดันขึ้นระดับโลก เคาะกระดาน TDX ไตรมาส 3/65

วานนี้ (1 มี.ค.) “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Digital Asset โอกาสและความเสี่ยง” โดยมี ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “DIGITAL ASSET PERSPECTIVE ยุทธศาสตร์ตลาดหุ้นไทยสู่สินทรัพย์ดิจิทัล” ว่า ปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น ทั้งผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนสะท้อนจากมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ที่ค่อนข้างใหญ่ และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ 1.69 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 55 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 10% เทียบกับมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ 113 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 พันล้านล้านบาท) ซึ่งตลท.มีขนาดราว 6 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 20 ล้านล้านบาท) หรือ 0.5-0.6% ของตลาดหุ้นทั่วโลก และเทียบกับขนาดของหุ้นขนาดใหญ่ เช่น หุ้นแอ๊ปเปิ้ลอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 85 ล้านล้านบาท)

สินทรัพย์ดิจิทัลเทรดพุ่ง 2.6 ล้านล้านบาท

เมื่อพิจารณาจำนวนเหรียญที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ 9,493 เหรียญเทียบกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั่วโลกอยู่ที่ 59,369 บริษัท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ 80.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) เทียบกับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ 857.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อว่าตลาดแบบดั้งเดิม กล่าวคือ ตลาดหุ้น และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถเชื่อมต่อและเติบโตควบคู่กันได้ โดยไม่ได้มองการเติบโตแบบแยกซ้ายขวา และเชื่อว่าในอนาคตตลาดเดิมจะไม่ได้หายไปไหนจากที่มองว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางระดมทุนใหม่ และมองว่าทั้ง 2 ตลาดมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน

เช่น หากบริษัทขนาดใหญ่ต้องการระดมทุนเงินจำนวนมากก็เหมาะกับการเสนอขายหุ้นใหม่ (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะใช้ผู้ลงทุนจำนวนไม่มาก แต่ได้เงินระดมทุนสูง เพราะหากระดมทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องใช้ผู้ลงทุนจำนวนมาก เพื่อลงทุนในโครงการนั้นๆ ดังนั้นจากจุดแข็งที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ตลาด จึงคาดว่าการเจริญเติบโตแบบควบคู่กัน น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต

จ่อเปิดแพลตฟอร์มเชื่อม 2 ตลาด

นายภากร กล่าวว่า ด้วยกระแสการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในระดับสูงตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โดยอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลแบบเปิด (Open Platform) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ซึ่งสามารถต่อเชื่อมกับผู้เล่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกโทเคน(Token Issuer) ศูนย์ซื้อขาย (Exchange) ผู้ให้บริการนักลงทุน (Investor Service) ฯลฯ

ทั้งนี้ภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯได้ใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ Exchange จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลท.ก็พร้อมเปิดให้พันธมิตรต่างๆ เข้ามาต่อเชื่อม โดยคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2565

ย้ำลงทุนโทเคนดิจิทัลเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้คนมักจะนึกถึงสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ซึ่งประกอบด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน (Private DC) ซึ่งจะประกอบด้วย Stable Coin หรือเหรียญที่มีหลักประกันเป็นเงินตรา (Fiat Money) เช่น นำเงินบาทหรือเงินดอลลาร์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเทเทอร์ (USDT) หรือไบแนนซ์ (BUSD) เป็นต้น และ Blank Coin อย่างบิตคอยน์ (BTC) และอีเธอเรียม (ETH) ซึ่งไม่มีหลักประกัน โดยราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ดีสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ และต้องการเข้าไปดำเนินธุรกิจ จะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1.โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และ 2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) สำหรับ Investment Token แบ่งเป็น Security Token Offering (STO) ซึ่งสามารถมีสินทรัพย์ (Asset-backed) หรือหุ้น (Securities) มาใช้ค้ำประกันได้ รวมถึง Project-based ซึ่งจะนำรายได้ที่ได้จากโครงการลงทุนต่างๆ มาค้ำประกัน

ทั้งนี้ Investment Token มีลักษณะคล้ายการระดมทุนในหลักทรัพย์ปกติ เพียงแต่วิธีการออกเป็นวิธีการแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ส่วน Utility Token แบ่งเป็น Utility Token แบบพร้อมใช้ และแบบไม่พร้อมใช้ ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจะมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป บางส่วนมีความเสี่ยงคล้ายกับการลงทุนหุ้น แต่บางส่วนมีความเสี่ยงสูงจากการแสวงหากำไรที่มาก

ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้บริการผู้ระดมทุนและนักลงทุนสำหรับ Investment Token และ Utility Token เท่านั้น ซึ่งการเก็บรักษาสินทรัพย์ (Wallet) อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการเองหรือต่อเชื่อมกับผู้ให้บริการรายอื่น โดยย้ำว่า TDX เป็น Open Platform ซึ่งมีเป้าหมายในการผลักดันให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยสามารถขยายใหญ่ขึ้นและต่อเชื่อมกับต่างประเทศได้

ต่อยอด ‘เซ็ทเทรด’ บริการนักลงทุน

นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าหมายให้นักลงทุนไทย บริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัทต่างๆ ที่ต้องการระดมทุนในตลาดแบบดั้งเดิม และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จะสามารถใช้บริการได้ง่าย เช่น การใช้แอปพลิเคชั่น “เซ็ทเทรด” (Settrade) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ตลท.ให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม โดยคาดว่าจะต่อยอดขยาย Settrade ให้เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน TDX

ทั้งนี้เนื่องจาก TDX มีการต่อเชื่อมกับ Exchange และผู้ให้บริการอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้Settrade สามารถต่อเชื่อมกับแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีการต่อเชื่อมกับ TDX ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ตั้งเป้าหมายให้ Settrade สามารถรับโอนเงินต่างๆ จากทั้ง Wallet และธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบเงินบาทและ Fiat Money เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ Settrade ให้บริการ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนและผู้ระดมทุนได้ประโยชน์จากการให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในตลาดเดิมและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ชี้จุดเด่นช่วยกระจายความเสี่ยง

เมื่อสอบถามถึงข้อดีของสินทรัพย์ดิจิทัล นายภากร กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลสามารถออกแบ่งกลุ่มสินทรัพย์ (Asset Class) ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม (Customize) เช่น Investment Token ของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่แบ่ง Token ออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งทั้ง 3 ประเภทจะให้สิทธิที่แตกต่างกันไป ทั้งที่สินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Assets) เป็นอย่างเดียวกัน

นอกจากนี้เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์การลงทุนแบบใหม่ จึงสามารถกระจายความเสี่ยงแก่พอร์ตลงทุนของนักลงทุนได้ เพราะผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถือและสามารถให้ผลตอบแทนได้ตามที่นักลงทุนต้องการ

ท้ายสุดคือการเข้าถึง เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Asset) นักลงทุนทุกประเภทสามารถลงทุนได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนครั้งเดียวในปริมาณมาก

เตือนราคาผันผวนจากสภาพคล่องต่ำ

ในทางกลับกัน สำหรับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ค่อนข้างใหม่ จึงมีความผันผวนของราคาจากสภาพคล่องที่ยังน้อย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการกำกับดูแลที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจ การระดมทุน และการลงทุน สุดท้ายคือความเสี่ยงจากการยืนยันตัวตนและความเสี่ยงทางไซเบอร์ (Cybe Risk) จะมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งการเก็บสินทรัพย์ การเก็บเงิน หรือการป้องกันการถูกแฮก ฯลฯ

“ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องค่อยๆ สร้างความมั่นใจ เพื่อทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลน่าเชื่อถือเหมือนสินทรัพย์แบบเดิม ซึ่งมี ก.ล.ต. ตลท. นักกฎหมาย และนักบัญชี ที่คอยตรวจสอบและดูแลให้ข้อมูลต่างๆ ถูกรายงานจากผู้ระดมทุนไปยังนักลงทุน”

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business

You may also like...