นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจปี 65 และปี 66 เหลือโต 3.2% และ 4.4% ว่า ไม่ได้หมายความรัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เท่าเดิมเสมอไป และเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ยังมีเหลืออีก 5-7 หมื่นล้านบาท ที่ยังเพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจ การกู้เงินเกินตัวไม่จำเป็น เป็นความเสี่ยงทำให้ต่างชาติมองประเทศไทยไม่ดี และลดเครดิตของประเทศไทย ทำให้ต้นทุนการกู้เงินของเอกชนและรัฐบาลแพง ได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ได้หารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีต รมว.คลังแล้ว ถึงเรื่องที่นายกรณ์ ได้เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าการกู้เงินต้องคำถึงวินัยการเงินการคลังในภาพรวมด้วย ซึ่งนายกรณ์ ก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดี ตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวได้แล้ว ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินการได้ ถึงแม้ว่ายังไม่เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องลดการออกมาตรการช่วยเหลือที่เป็นภาระกับเงินกู้ลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ จะเกินกว่ากรอบเป้าหมายที่ ธปท.และกระทรวงการคลังประเมินไว้ที่ 1-3% หรือไม่นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เป็นสิ่งที่จะต้องหารือกับธปท. ก่อน ว่าราคาน้ำมันและราคาอาหารที่แพงขึ้น จะส่งผลกระทบยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน หรือเป็นภาวะชั่วคราว ซึ่งก็อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 3% แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อ โดยในระยะสั้น รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ช่วยจ่ายค่าน้ำมันเบนซินให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายได้
“ในช่วงสั้น บางเดือนอัตราเงินเฟ้ออาจจะสูงเกินกรอบบน 3% ไปบ้าง แต่ทั้งปี ต้องดูระยะยาวว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีการหารือกับ ธปท.เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นมาก เบื้องต้นเชื่อว่าราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบกับเงินเฟ้อไทยในไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3 ยังไม่แน่ใจ แต่ไตรมาส 4 คาดว่าจะทุเลาลง ซึ่งเรื่องสงครามเป็นเรื่องที่ประเมินยาก”
อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy