jokesocool

News

แรงงานไทย อ่วม ค่าครองชีพสูง รายได้ลด จี้รัฐปรับทักษะ

EIC จี้รัฐปรับทักษะแรงงานไทย ทยอยผ่อนคลายแรงงานต่างด้าวกลับเข้าไทย ชี้เราต้องโตไปกับแรงงานต่างด้าวและลงทุนนวัตกรรม ทีทีบีห่วงคาดการณ์เงินเฟ้อสูง ทำคนเข้าใจผิดว่าของแพง ด้านสแตนชาร์ดไทย เผยไทยมีปัจจัยบวกอ่อนๆ จากกิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มเดิน

เหตุผลสำคัญของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ก็เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยควบคู่กับมาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในการช่วย ตลาดแรงงาน รายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง

 

นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคาร ไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคครัวเรือนพยายามจะลดหนี้ ลดค่าใช้จ่าย เห็นได้จากสัญญาณสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ปรับลดในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่สินเชื่อส่วนบุคคลยังสูง เพราะคนต้องการกู้ชดเชยสภาพคล่องที่หายไปกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่แค่ระดับ 40 กว่าจากเกณฑ์ที่ 100

“ประเด็นที่อยากให้จับตาคือ หนี้นอกระบบมากขึ้น จากการที่สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยกู้ ซึ่งจากผลสำรวจเกือบ 26% ของกลุ่มสำรวจ ยังกู้นอกระบบ โดยครึ่งปีก่อน มูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่ม 78% ดังนั้นความจำเป็นของภาครัฐต้องกู้ เพราะเงินกู้โควิดเหลือ 75,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะดูแลผลกระทบจากเงินเฟ้อและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้”นายยรรยงกล่าว

แรงงานไทย อ่วม ค่าครองชีพสูง รายได้ลด จี้รัฐปรับทักษะ

สำหรับตลาดแรงงาน ถ้าดูอัตราว่างงานที่ลดลงจากที่สูงสุดในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว 2.3% และไตรมาส 4 ปรับลงมา 1.6% ข้อมูลลึกๆ แล้วตลาดแรงงานยังมีความเปราะบางอยู่มาก เห็นได้จากคนทำงานทำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 7.4 ล้านคน จากช่วงก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ 6.8 ล้านคน สะท้อนคนทำงานเต็มเวลาหรือโอทีหายไปราว 1.1 ล้านคน และลูกจ้างเอกชนหายไปราว 1 ล้านคน โดยเพิ่มในผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Gig Worker)

ขณะที่แรงงานยังย้ายจากกลุ่มรายได้สูงไปหากลุ่มรายได้ต่ำ เช่น กลุ่มเกษตรที่มีรายได้ 6,000 บาทต่อคนไปจนถึง 19,000 บาท ซึ่งแรงงานที่หายไปมากคือ กลุ่มโรงแรมกับการผลิต ซึ่งรายได้กลุ่มนี้ 13,000 บาทและ 15,000 บาท แม้จะมีแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มโลจิสติกส์และสุขภาพ แต่สองกลุ่มนี้มีจำนวนแรงงานน้อย รายได้เฉลี่ยของการจ้างงานเพิ่มอยู่แค่ 11.000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้เฉลี่ยกลุ่มจ้างงานลดลงอยู่ที่ 15,000 บาท คือ แม้จะมีว่างงานน้อย แต่รายได้ลดและชั่วโมงการทำงานลดและมูลค่าเพิ่มลดลงกว่าเดิม

 

“ปัญหาระยะสั้นเรื่องรายได้ลด แต่ระยะยาวยังกังวลว่า อัตราว่างงานลด แต่อัตราการว่างงานนานเกิน 6 เดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ และคนเหล่านี้มีแนวโน้มจะสูญเสียทักษะไป และจะเป็นปัญหาระยะยาวของเศรษฐกิจไทย หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ข้อเสนอเชิงนโยบายให้ปรับทักษะแรงาน, จับคู่ธุรกิจ ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงทยอยผ่อนคลายแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามา เราต้องเติบโตไปกับแรงงานต่างด้าวและลงทุนนวัตกรรม”นายยรรยงกล่าว

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับธปท.ในการคงดอกเบี้ยนโยบาย เพราะปัญหาเงินเฟ้อรอบนี้มาจากซัพพลาย ซึ่งการปรับดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯมีความแตกต่างกัน โดยสหรัฐฯเศรษฐกิจร้อนแรงและเผชิญซัพพลาย แต่เศรษฐกิจไทยยังติดลบ 1.4% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นไปถึงช่วงก่อนโควิด

สำหรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ 3.2% ทีทีบีคาดที่ 3.0% ซึ่งที่เศรษฐกิจจะติดลบหรือบวกต่ำกว่านี้น่าจะยาก เพราะถ้าโตไม่ถึง 3.0% เป็นการฟื้นตัวช้า ซึ่งรวมปัจจัยเสี่ยงระดับราคาและระดับหนี้สูงแล้ว โดยส่วนตัวยังมองว่า ถ้าเศรษฐกิจโต 3.2% เงินเฟ้ออยู่ที่อัตรา 5% เมืองไทยไม่เกิด Stagflation หากจะถึง Stagflation เศรษฐกิจต้องชะลอมากกว่านี้

 

“ยอมรับว่า เงินเฟ้อปีนี้น่าห่วง และความเสี่ยงที่น่ากลัวคือ คาดการณ์เงินเฟ้อสูง ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ราคาของจะแพงขึ้น บวกผลกระทบที่จะมีต่อค่าแรง ค่าจ้าง ดังนั้นต้องควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ให้เข้าใจว่า เป็นสถานการณ์ชั่วคราว ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายได้” นายนริศ กล่าว

 

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทยกล่าวว่า ขณะนี้เมืองไทยมีปัจจัยบวกอ่อนๆ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เดินหน้าและนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะมากขึ้นตลอดทั้งปี แม้มุมมองต่อเศรษฐกิจภาพรวมอาจไม่แข็งแรง เห็นได้จากธปท.เมื่อต้นปีประเมินเศรษฐกิจโต 3.9% ถัดมาเหลือ 3.4% ก่อนจะปรับเหลือ 3.2%

 

“ส่วนตัวคิดว่า 3.2% มีความเป็นไปได้เพราะมีมุมบวกให้เห็นแม้วันนี้ยังมีความเสี่ยงเดิมๆคงอยู่ ทั้งราคาน้ำมัน เงินเฟ้อสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครน การระบาดของโควิดในจีนจนต้องล็อกดาวน์หรือแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอจากสัญญาณอนาคตถ้าเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง” นายทิม กล่าว

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,772 วันที่ 7 – 9 เมษายน พ.ศ. 2565

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market

You may also like...