jokesocool

News

ค่าครองชีพพุ่ง กดกำลังซื้อคนกรุงช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 2.34 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าการใช้จ่ายคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 65 อยู่ที่ 2.34 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.5% หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ผลจากค่าครองชีพ-เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น

วันที่ 30 มีนาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าจำเป็น

ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคระบาดปศุสัตว์และการลดลงของอุปทานในบางรายการสินค้า ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2565 ประกอบกับความตึงเครียดของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารและพลังงานดีดตัวสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากการขาดรายได้ในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะบรรเทาลงบ้างแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้การจับจ่ายของประชาชนน่าจะยังไม่กลับมาคึกคัก สอดคล้องไปกับผลการสำรวจ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามทุกกลุ่มรายได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลงเมื่อเทียบกับ 3 เดือนก่อนหน้า (รวมค่าใช้จ่ายสินค้าจำเป็น ค่าสาธารณูปโภค ช็อปปิ้ง ค่าบริการ ท่องเที่ยว ฯลฯ)

โดยเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างใช้จ่ายลดลง 1-25% ของค่าใช้จ่ายเดิมเมื่อเทียบกับ 3 เดือนก่อน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่าย โดยเน้นการลดปริมาณการซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น ลดการเดินทางและทานข้าวนอกบ้าน รวมถึงประหยัดพลังงาน

ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจยืดเยื้อออกไป จึงมีแนวโน้มจะระมัดระวังการใช้จ่ายจนกว่าสถานการณ์จะมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่

1) ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาอาหาร ก๊าซหุงต้ม และค่าสาธารณูปโภค 2) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และ 3) ความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามลำดับ

โดยคาดมูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน และเม็ดเงินใช้จ่ายรายกิจกรรมส่วนใหญ่ลดลง

ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายรายกิจกรรมของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงเกือบทุกประเภท โดยเม็ดเงินใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนมากที่สุดที่ 40% ของเม็ดเงินรวม อยู่ที่ 9,500 ล้านบาท (-3.0% YoY) ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีแผนจะปรุงอาหารทานเองที่บ้าน โดยลดปริมาณการซื้อวัตถุดิบเท่าที่จำเป็นและราคาไม่สูงมากนักเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ส่วนเม็ดเงินการช็อปปิ้งซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท (-3.9% YoY) ซึ่งผลการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องแต่งกายเป็นหลัก แต่ลดจำนวนการซื้อสินค้าลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และงด/ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลง

โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าตามโปรโมชั่นลดราคาส่งเสริมการขายมากที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังมีแนวโน้มชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออกไปก่อน

ขณะที่ค่าเดินทาง ค่าที่พักในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว อยู่ที่ 6,050 ล้านบาท (+1.1% YoY) เป็นผลหลักจากจำนวนผู้เดินทางที่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามมาตรการสาธารณสุขที่ผ่อนคลายลง และให้สามารถจัดงานสงกรานต์ตามประเพณีในพื้นที่ที่มีการควบคุมได้

แต่ผู้เดินทางจะจัดสรรค่าใช้จ่ายอย่างระมัดระวังภายใต้งบประมาณที่ตั้งไว้ เช่น เลือกเดินทางด้วยรถโดยสารชั้น 2 ทดแทนรถชั้น 1 หรือเลือกที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐ เป็นต้น

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายรวมในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 (13-17 เมษายน 2565) จะอยู่ที่ประมาณ 23,400 ล้านบาท ลดลง 2.5% หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน

เป็นผลหลักจากสัดส่วนคนกรุงเทพฯ ที่เลือกทำกิจกรรมฉลองสงกรานต์ลดลงจากปีที่แล้ว และลดการใช้จ่ายลงเหลือเท่าที่จำเป็น โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,600 บาท ลดลงจากปีก่อน

โดยช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกต้องเผชิญต้นทุนวัตถุดิบและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการบางส่วน

แต่จากภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพโดยรวมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายและคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกใช้จ่ายเพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์เท่าเดิมหรือลดลง

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ในช่วงเทศกาลธุรกิจอาจเน้นโปรโมชั่นส่งเสริมการขายระยะสั้น สำหรับสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือสินค้าที่มีอายุผลิตภัณฑ์จำกัด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าที่ยังมีงบประมาณในการจับจ่าย

เช่น โปรโมชั่นลดราคาแบบขั้นบันได การให้ส่วนลดพิเศษสินค้าที่ขายได้ช้า จัดชุดสินค้าแบบเซต จูงใจให้เพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าต่อครั้งมากขึ้น และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจในระยะนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะยาวธุรกิจต้องเน้นการบริหารต้นทุนสินค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันเข้มข้น

You may also like...